เสาเข็มไมโครไพล์,เสาเข็ม,แผ่นพื้นสำเร็จรูป
เสาเข็มไมโครไพล์ (Micropile)
เป็นเสาเข็มแบบตัวไอ มีโครงเหล็กฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตโดยรอบ
โดยแบบสามารถรองรับน้ำหนัก ปลอดภัยได้ถึง 25–30 ตันต่อต้น มีความหนาของเนื้อคอนกรีตอยู่ในช่วง 6–8 เซนติเมตร
และมีความยาวอยู่ในช่วง 1.5 เมตร ซึ่งความยาวนี้สามารถเพิ่มได้โดยการนำเสามาเชื่อมต่อกันโดยใช้ลวดเชื่อมหนาพิเศษ
(Bold Welding) วิธีการตอกเสาเข็มไมโครไพล์จะตอกด้วยปั้นจั่นแบบพิเศษ (Drop Hammer System)
เสาเข็มไมโครไพล์เหมาะใช้สำหรับบ้าน, อาคาร และโรงงานที่ทำการก่อสร้างต่อเติม หรือซ่อมแซมจากอาการพื้นทรุด
เสาเข็มไมโครไพล์สามารถตอกได้ในที่แคบซึ่งปั้นจั่นใหญ่ และเสาเข็มเจาะไม่สามารถเข้าถึงได้
(ตอกประชิดใกล้กำแพงได้น้อยสุดระยะ 50 เซ็นติเมตร)
คุณสมบัติเสาเข็มไมโครไพล์
1. สามารถทำงานได้ในที่แคบ และใช้พื้นที่ในการทำงานน้อย โดยที่ไม่ต้องรื้อโครงสร้างออก
2. รับน้ำหนักได้ไม่ต่างกับเสาเข็มเจาะ
3. แรงสั่นสะเทือนน้อย ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างเดิม
4. หน้างานสะอาด ไม่ต้องห่วงปัญหาเรื่องการนำดินโคลนไปทิ้ง
5. งานเสร็จรวดเร็วกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเสาเข็มเจาะ
เสาเข็ม
เสาเข็มคือส่วนที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวบ้าน และกระจายน้ำหนักไปยังชั้นดินใต้อาคาร
โดยใช้แรงพยุงตัวที่เกิดจากแรงเสียดทานของดิน กับพื้นที่ผิวรอบเสาเข็ม
หรือใช้การถ่ายตรงลงสู่ชั้นดินหรือหินแข็งโดยตรง เพื่อไม่ให้บ้านหรืออาคารทรุดจมลงไปในดิน
เสาเข็มอาจเป็นไม้ คอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กรูปพรรณ ถ้าเป็นอาคารเล็กก็ใช้เข็มสั้นและจำนวนไม่มาก
แต่ถ้าเป็นอาคารใหญ่ ก็จะต้องเสาเข็มจำนวนมากขึ้น หรือใช้เสาเข็มยาวขึ้นเพื่อถ่ายน้ำหนักลงไปยังชั้นดินได้ลึกขึ้น
เพื่อรับน้ำหนักได้มากกว่า เนื่องจากดินชั้นบนมักจะมีความหนาแน่นน้อย จึงสร้างแรงเสียดทานให้กับเสาเข็มได้น้อยกว่า
ชั้นดินที่อยู่ลึกลงไป และหากเสาเข็มยาวจนถึงระดับชั้นดินหรือหินแข็ง เสาเข็มจะรับน้ำหนักจากอาคารและถ่ายลงสู่
ชั้นดินแข็งโดยตรง
เสาเข็มมีด้วยกันหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่นำไปใช้ประเภทของเสาเข็ม ได้แก่
1. เสาเข็มตอก
มีทั้งเสาไม้ เสาเหล็ก และเสาคอนกรีต ส่วนมากจะนิยมใช้เสาเข็มคอนกรีต เนื่องจากราคาถูกกว่าเสาเหล็กและแข็งแรงกว่าเสาไม้
สำหรับเสาคอนกรีตแบ่งย่อยได้ 2 ชนิด ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เสาคอนกรีตอัดแรงจะเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะหน้าตัดเล็กกว่าทำให้เวลานำไปตอกจะส่งผลกระทบต่ออาคารข้างเคียงน้อยกว่า เสาเข็มตอกมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งแบบสี่เหลี่ยม แบบกลม แบบตัว I และแบบตัว T เป็นต้น เสาเข็มตอกสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ราว ๆ 10-120 ตันต่อต้น
วิธีการตอกเสาเข็ม
ต้องใช้ปั้นจั่นในการตอกลงไปในดิน โดยช่วงสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตอกเสาเข็ม จะต้องมีการตรวจสอบการตอก 10 ครั้งสุดท้าย
(Last Ten Blow) เข็มที่ตอกมีการทรุดตัวกว่าค่าที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าหากทรุดตัวมากเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้แสดงว่ายังไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีพอ
ข้อเสียของเสาเข็มตอก
คืออาจจะไม่สะดวกสำหรับไซต์งานที่มีพื้นที่แคบ ๆ เนื่องจากต้องขนส่งด้วยรถขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ไซต์งานที่อยู่ในพื้นที่แคบ ๆ ได้
2. เสาเข็มเจาะระบบแห้ง
เป็นเสาเข็มที่เข้ามาแก้ปัญหาเสาเข็มแบบตอกซึ่งไม่สะดวกสำหรับการขนย้าย ให้สามารถทำงานในสถานที่แคบ ๆ
เสาเข็มเจาะระบบแห้งเป็นการทำเสาเข็มแบบหล่อในที่ มีรูปร่างหน้าตาเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร
สามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ราว ๆ 25-60 ตันต่อต้น ความยาวประมาณ 20–30 เมตร
วิธีการทำเสาเข็มเจาะแบบแห้ง
สามารถเจาะโดยใช้ขาตั้ง 3 ขา แล้วใช้ลูกตุ้มเหล็กหรือกระบะตักดินกระแทกลงไปในดินลึกประมาณ 1 เมตร
หลังจากนั้นนำปลอกเหล็กตอกลงไปในหลุมเจาะ โดยปกติจะลงไปลึกประมาณ 12-14 เมตร ซึ่งระดับความลึกระดับนี้จะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อน
หลังจากนั้นทำการเจาะดินโดยทิ้งกระบะตักดินลงไปในปลอกเหล็ก แล้วตักขึ้นมาทิ้งบริเวณปากหลุม การเจาะดินจะทำการเจาะไปถึงชั้นทรายแล้วจึงหยุดเจาะ
เนื่องจากชั้นทรายจะมีน้ำไหลซึมออกมาตลอดซึ่งจะทำให้ก้นหลุมพัง หลังจากนั้นใส่เหล็กเสริมลงไปในปลอกเหล็ก แล้วเทคอนกรีตลงไปในปลอกเหล็ก
หลังจากเทเสร็จให้รีบดึงปลอกเหล็กขึ้นทันที
เสาเข็มเจาะระบบแห้ง
มีข้อดีคือเข้าทำงานในที่แคบ ๆ ได้ แต่ข้อเสียคือรับน้ำหนักได้ค่อนข้างน้อย
3. เสาเข็มเจาะระบบเปียก
เป็นเสาเข็มแบบคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่ รูปหน้าตัดทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75-1.50 เมตร
สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 150-900 ตัน/ต้น เสาเข็มระบบนี้จะเหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่
เช่น อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น เสาเข็มระบบนี้เมื่อเจาะลงลึกกว่า 20 เมตร
จะต้องใช้ละลาย Bentonite ใส่ลงไปในหลุมเจาะ เพื่อผลักน้ำออกไปจากชั้นทรายเพื่อให้สามารถเทคอนกรีตลงไปได้
แผ่นพื้นสำเร็จรูป
พื้น เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของสิ่งของทุกชนิดที่ตั้งอยู่ในบ้าน ทั้งเฟอร์นิเจอร์พวกตู้ โต๊ะ เตียง หรือชั้นวางของต่างๆ
รวมถึงรับน้ำหนักของเราเองที่อาศัยอยู่ในบ้าน ซึ่งบางจุดอาจรับน้ำหนักมากถึงร้อยกิโลกรัมต่อตารางเมตรเลยทีเดียว
ความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักต่างๆ ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
พื้นสำเร็จรูป คือ แผ่นพื้นคอนกรีตที่หล่อมาจากโรงงาน แล้วมาวางตามสถานที่ก่อสร้างได้เลย หลังจากนั้นก็วางเหล็กเสริมด้านบน
โดยมีเหล็กยื่นเข้าไปในคานด้วย แล้วจึงเทปูนทับหน้าหนาประมาณ 5 เซ็นติเมตรอีกทีหนึ่ง
ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารนั้น มีการใช้งานแผ่นพื้นสำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสําเร็จรูป มาแทนที่การก่ออิฐฉาบปูน แบบเก่าเพิ่มมากขึ้น
เพราะพื้นสำเร็จรูปใช้เวลาไม่นาน ทำให้ประหยัดเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างด้วย
การวางพื้นสำเร็จรูปนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของพื้นสำเร็จรูปด้วย การเลือกใช้พื้นสำเร็จรูปควรเลือกใช้ตามความเหมาะสมและความพอใจ
ของเจ้าของบ้าน แต่ต้องยึดหลักของความปลอดภัยมาก่อน โดยพื้นสำเร็จรูปที่นิยมใช้งานกันทั่วไปมี 3 ประเภท ดังนี้
1.พื้นสำเร็จรูปท้องเรียบ
เป็นแผ่นคอนกรีตอัดแรงชนิดท้องเรียบ รูปหน้าตัดเหมือนแผ่นกระดาน กว้าง 35 ซม. หนา 5 ซม. ยามไม่เกิน 5 ม.
ใช้ลวดอัดแรง PC WIRE ขนาด 4 มม. จำนวน 4 - 8 เส้นต่อแผ่น สามารถวางชิดกันตลอด
ด้านท้องจะเรียบร้อยโดยไม่ต้องฉาบปูน เมื่อเทคอนกรีตทับหน้าแล้วจะทำงานเป็นเนื้อเดียวกับตัวพื้นสำเร็จรูป
เหมาะกับงานอาคารโดยทั่วไปทุกขนาด เช่น สำนักงาน อาคารเรียน คอนโดมิเนียม โรงงาน ทาวเฮ้าส์ แต่ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่โดนน้ำ
2.พื้นสำเร็จรูปลอนโค้ง
เป็นแผ่นคอนกรีตอัดแรงที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะการรับน้ำหนักเสมือนคาน ซึ่งมากกว่าแผ่นพื้นสำเร็จรูปทั่วไป
ทำให้การทำงานไม่ต้องมีค้ำยันในขณะติดตั้ง ทำให้เกิดความปลอดภัย ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการก่อสร้าง
3.พื้นสำเร็จรูปชนิดกลวง
เป็นแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรงที่มีรูกลวง ผิวด้านล่างราบเรียบเสมอทั่วแผ่น เหมาะสำหรับโครงสร้างอาคาร ในส่วนที่เป็นพื้นหลังคา
ผนังหรือกำแพง ทำด้วยคอนกรีตอัดแรงที่มีผิดแข็งแกร่ง และมีรูกลวงขนาดกว้าง ช่องอากาศภายในจึงช่วยลดการผ่านของเสียง
หรือการแพร่กระจายของอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ประโยชน์ในการเดินต่อสายไฟท่อหรือใช้สำหรับเป็นช่องระบายอากาศ
พื้นผิวที่บางทั้งด้านบนและด้านล่าง ช่วยให้ง่ายต่อการเจาะหรือสกัด